เพียงพอ กับ เศรษฐกิจพอเพียง PDF Print E-mail
Written by Administrator   
Friday, 04 April 2008 14:35

พระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

เศรษฐกิจพอเพียงเป็นแนวคิดที่ยึดหลักทางสายกลาง คำว่า ความพอเพียง นั้นหมายถึงความพร้อมที่จะจัดการกับผลกระทบที่เกิดขึ้นจากทั้งภายนอกและภายใน ระบบเศรษฐกิจแบบพอเพียง ยังสามารถมองได้ว่าเป็นปรัชญาในการดำรงชีวิตให้มีความสุข ที่จำเป็นต้องใช้ทั้ง ความรู้ ความเข้าใจ ผนวกกับคุณธรรมในการดำเนินชีวิต เศรษฐกิจพอเพียงไม่ใช่เพียงการประหยัด แต่เป็นการดำเนินชีวิตอย่างชาญฉลาด และสามารถอยู่ได้ แม้นในสภาพที่มีการแข่งขัน และการไหลบ่าของโลกาภิวัต นำสู่ ความสมดุล มั่นคง และยั่งยืน ของ ชีวิต เศรษฐกิจ และสังคม

อภิชัย พันธเสน ผู้อำนวยการสถาบันการจัดการเพื่อชนบทและสังคม ได้จัดแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงว่าเป็น "ข้อเสนอในการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจตามแนวทางของพุทธธรรมอย่างแท้จริง" [2] ทั้งนี้เนื่องจากในพระราชดำรัสหนึ่ง ได้ให้คำอธิบายถึงเศรษฐกิจพอเพียงว่า "คือความพอประมาณ ซื่อตรง ไม่โลภมาก และต้องไม่เบียดเบียนผู้อื่น" การดำรงชีวิตอยู่ได้ จำเป็นที่จะต้องประกอบไปด้วยปัจจัยสำคัญสี่ประการ ซึ่งได้แก่ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค และที่อยู่อาศัย ซึ่งในโลกยุคทุนนิยมอย่างเช่นปัจจุบันนี้ ปัจจัยทั้งสี่ไม่อาจจะหามาได้ถ้าปราศจาก เงิน ซึ่งถือว่าเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการมาแต่นมนาน การได้มาซึ่งเงินนั้น จำเป็นที่บุคคลจะต้องประกอบสัมมาอาชีพ แล้วนำเงินที่ได้มานั้น ไปแลกเปลี่ยนให้ได้มาซึ่งปัจจัยในการดำรงชีวิต

ระบบเศรษฐกิจพอเพียงมุ่งเน้นให้บุคคลสามารถประกอบอาชีพได้อย่างยั่งยืน และใช้จ่ายเงินให้ได้มาอย่างพอเพียงและประหยัด ตามกำลังของเงินของบุคคลนั้นโดยปราศจากการกู้หนี้ยืมสิน และถ้ามีเงินเหลือ ก็แบ่งเก็บออมไว้บางส่วน ช่วยเหลือผู้อื่นบางส่วน และอาจจะใช้จ่ายมาเพื่อปัจจัยเสริมอีกบางส่วน (ปัจจัยเสริมในที่นี้เช่น ท่องเที่ยว ความบันเทิง เป็นต้น) สาเหตุที่แนวทางการดำรงชีวิตอย่างพอเพียงได้ถูกกล่าวถึงอย่างกว้างขวางในขณะนี้ เพราะสภาพการดำรงชีวิตของสังคมในปัจจุบัน ได้ถูกปลูกฝัง หรือสร้าง หรือกระตุ้น ให้เกิดการใช้จ่ายอย่างเกินตัว ในเรื่องที่ไม่เกี่ยวข้องหรือเกินกว่าปัจจัยในการดำรงชีวิต เช่น การบริโภคเกินตัว ความบันเทิงหลากหลายรูปแบบ ความสวยความงาม การแต่งตัวตามแฟชั่น การพนันหรือเสี่ยงโชค เป็นต้น จนทำให้ไม่มีเงินเพียงพอเพื่อตอบสนองความต้องการเหล่านั้น ส่งผลให้เกิดการกู้หนี้ยืมสิน เกิดเป็นวัฏจักรที่บุคคลหนึ่งไม่สามารถหลุดออกมาได้ ถ้าไม่เปลี่ยนแนวทางในการดำรงชีวิต

ในแง่เศรษฐกิจมหภาค ระบบเศรษฐกิจแบบพอเพียงอาจจะทำให้ระดับการบริโภคโดยรวมลดลง ซึ่งเป็นไปได้เนื่องจากประชาชนจะไม่กู้หนี้ยืมสินเพื่อมาใช้จ่าย แต่อาจทำให้กำลังการใช้จ่ายสะท้อนภาพจริงของเศรษฐกิจ

Last Updated ( Friday, 04 April 2008 14:37 )